Tuesday, May 22, 2012

คืนภาษีรถยนต์คันแรกขยายเวลา เพิ่มโอกาสเอื้อประชาชน

คืนภาษีรถยนต์คันแรก คลังเปิด 2 ทางขยายเวลา เพิ่มโอกาสเอื้อประชาชน


หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลได้คลอดออกมาเมื่อปลายปีที่แล้วในทันทีที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล ก็คือ การออกนโยบายคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไม่เกิน 100,000 บาท ให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก

ปรากฏว่าแรกๆที่รัฐบาลได้ไฟเขียวนโยบายดังกล่าว ได้เรียกเสียงเฮลั่นจากผู้บริโภค

ขณะที่บริษัทรถยนต์ ก็หน้าชื่นตาบาน เพราะมั่นใจว่ายอดขายรถยนต์ยิ่งพุ่งกระฉูดแน่

อย่างไรก็ดี คนคำนวณหรือจะสู้ฟ้าลิขิต

เพราะคล้อยหลังจากที่นโยบายนี้ไม่กี่สัปดาห์  ประเทศไทยได้ประสบวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ผู้บริโภคไม่มีอารมณ์จะซื้อรถใหม่

แต่ภายหลังจากที่วิกฤติคลี่คลาย กำลังซื้อเริ่มหวนคืนกลับมา ทว่าก็ติดปัญหาที่บริษัทรถยนต์ไม่อาจจะผลิตรถยนต์ได้พอเพียงกับความต้องการที่ทะลัก เพราะโรงประกอบรถยนต์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนได้จมน้ำท่วม

ส่งผลให้ขณะนี้รถยนต์หลายรุ่น โดยเฉพาะรถที่อยู่ในข่ายได้คืนภาษีรถคันแรก ต้องประสบปัญหายอดจองสูงมาก จนต้องใช้เวลาหลายเดือนในการรับรถ ซึ่งรถยนต์บางรุ่นนั้นต้องใช้เวลานานข้ามปีกว่าจะได้รถที่จองไว้

ทำให้ผู้บริโภคพากันวิตกว่า หากรอรถนานข้ามปี ก็อาจจะเสียสิทธิการได้คืนภาษีรถคันแรก จึงได้ร้องขอให้กระทรวงการคลังได้ขยายเวลาการคืนภาษีรถคันแรกไปอีก

โดยเรื่องนี้กระทรวงการคลังยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะขยายเวลาคืนภาษีรถคันแรกไปอีกหรือไม่

และหากจะขยายเวลา ก็ควรออกมาในรูปแบบใดที่รัฐบาลจะไม่กระเป๋าฉีกไปมากกว่านี้!!

น้ำท่วมป่วนตลาดรถ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลได้มีมติอนุมัติการคืนภาษีรถคันแรกตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555

โดยรัฐบาลระบุว่าเพื่อจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวและมียอดขายรถยนต์ในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คัน โดยเบื้องต้นได้ประมาณการภาษีที่ต้องคืนให้กับประชาชนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท

สำหรับหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินการในโครงการดังกล่าว มีดังนี้ 

1.เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2554 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555, 
2.เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคัน,
3.เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1500 ซีซี หรือรถกระบะ (Pick up) รวมทั้งรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab), 
4.เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ),
5.คืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน, 
6.ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป,
7.ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี
8.การคืนเงินจะคืนเมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปีไปแล้ว (เริ่มจ่ายคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 เป็นต้นไป
)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอรัฐบาลได้คลอดนโยบายคืนภาษีรถออกมา ได้กลายเป็นแรงปลุกเร้าให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อรถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 1500 ซีซี และรวมถึงรถอีโคคาร์

อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าอายุโครงการกินเวลานานถึง 1 ปี และการที่หลายบริษัทรถยนต์มีแผนจะทยอยออกรถรุ่นใหม่ๆที่เข้าข่ายได้รับคืนภาษีรถคันแรก ทำให้ผู้บริโภคยังใจเย็นรอซื้อรถรุ่นที่ต้องการใช้งานจริงๆ



แต่หลังจากการออกนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกไม่ถึงเดือน ประเทศไทยได้เจอน้ำท่วมใหญ่
โดยนอกจากเทือกสวนไร่นา ร้านค้า และธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบ้านเรือนประชาชนต้องเสียหายอย่างมากแล้ว

ยังทำให้นิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่งต้องจมน้ำ และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมพลอยสำลักน้ำท่วมหนนี้อีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ทำให้กำลังซื้อหดวูบ!!

ดังนั้น ในระยะแรกๆที่ออกนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก จึงยังไม่เห็นภาพความคึกคักของตลาดรถยนต์มากนักอย่างที่รัฐบาลได้วาดฝันไว้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิกฤติน้ำท่วมได้เริ่มคลี่คลายมาในช่วงปลายปี จึงทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันกลับมาจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจเพิ่มความคึกคัก

โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ได้หวนกลับมาเบ่งบาน อันเกิดจากนโยบายภาษีรถยนต์คันแรก และการที่บริษัทรถยนต์ได้ทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ซึ่งหลายรุ่นอยู่ในข่ายได้คืนภาษีรถคันแรก รวมทั้งรถอีโคคาร์รุ่นใหม่

ที่สำคัญ แรงหนุนส่งให้เกิดความต้องการซื้อรถมากขึ้น ยังมาจากการที่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีความจำเป็นต้องใช้รถใหม่ เนื่องจากรถที่มีอยู่แล้วได้เสียหายจากการจมน้ำท่วม

และยังเกิดจากแรงอั้นการซื้อรถยนต์ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมนั่นเอง!!

คิวจองรถยาวเหยียด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความต้องการรถยนต์จะมีเพิ่มมากขึ้น 
แต่ก็ติดปัญหาที่บริษัทรถยนต์ต่างๆไม่อาจจะผลิตรถยนต์ได้พอเพียง
เนื่องจากโรงประกอบรถยนต์บางแห่งได้จมน้ำท่วม 
กว่าจะกลับมาผลิตใหม่ได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน

ขณะที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีกเป็นจำนวนมากมายได้เกิดความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมเช่นกัน

เป็นเหตุให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอย่างรุนแรง จนโรงประกอบรถยนต์หลายแห่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม  แต่ก็ต้องหยุดการผลิตหรือชะลอการผลิตรถยนต์เป็นการชั่วคราว

ส่งผลให้รถหลายรุ่นต้องเสียเวลารอนาน เพราะมียอดจองล้นทะลัก 
ขณะที่โรงประกอบรถยนต์ไม่อาจจะเร่งการผลิตได้มากเพียงพอ

โดยเฉพาะรถที่อยู่ในข่ายได้คืนภาษีนั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหายอดจองสูงมากกินเวลา 2-6 เดือน

ยิ่งเป็นรถอีโคคาร์ราคาถูก โดยเฉพาะอีโคคาร์ 2 รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ รถมิตซูบิชิ มิราจใหม่ และรถซูซูกิ สวิฟท์ใหม่ ต้องใช้เวลานานข้ามปีถึงจะได้รถที่จองไว้

นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการที่บริษัทได้แนะนำรถยนต์นั่งมิตซูบิชิ มิราจใหม่ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างดี มียอดจองแล้วกว่า 20,000 คัน และยังคงมีรายงานยอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากยอดจองที่สูงเกินความคาดหมาย ทำให้บริษัทเตรียมปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตและส่งมอบรถยนต์มิราจให้แก่ผู้บริโภคทั้งหมดได้ภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่รถฮอนด้าก็มีปัญหาคิวจองรถนานมาก เพราะโรงประกอบรถยนต์ฮอนด้า ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้จมน้ำท่วม โดยเพิ่งกลับมาเริ่มการผลิตใหม่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมานี้เอง



นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้เร่งการส่งมอบรถยนต์ฮอนด้าให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศ ภายหลังจากการกลับมาเดินสายการผลิตแบบเต็มกำลัง ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

“ปัจจุบันโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าในไทยมีกำลังการผลิตสูงสุดวันละ 1,000 คัน ซึ่งเป็นยอดการผลิตจากทั้ง 2 โรงงาน มีการผลิตโรงงานละ 2 กะต่อวัน”

ตลาดรถหวนกลับมาแล้ว

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้นำตลาดรถยนต์ในไทย ได้รายงานสถิติการขายรถยนต์รวมทุกประเภทและทุกยี่ห้อ ประจำเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่ประสบวิกฤติน้ำท่วม พบว่ามีปริมาณการขายทั้งสิ้น 87,012 คัน เพิ่มขึ้น 27.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 40,685 คัน เพิ่มขึ้น 29.6% และรถเพื่อการพาณิชย์ 46,327 คัน เพิ่มขึ้น 25.7% โดยตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มียอดขาย 40,087 คัน เพิ่มขึ้น 28.2%

ขณะที่ยอดขายรถยนต์เดือน ต.ค. 2554 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ประเทศไทยเริ่มประสบวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เห็นได้ว่าตลาดรถยนต์หดตัวอย่างรุนแรง โดยตลาดรถยนต์รวมมีปริมาณการขายทั้งสิ้น 42,873 คัน ลดลง 40.5% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 19,852 คัน ลดลง 38.8% และรถเพื่อการพาณิชย์ 23,021 คัน ลดลง 41.8% รวมทั้งตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 18,861 คัน ลดลง 44.3%

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การที่ตลาดรถยนต์เดือน ต.ค. ได้ลดลง 40.5% เป็นผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่ ทำให้โรงประกอบรถยนต์หลายแห่งที่แม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จำต้องหยุดการผลิตตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. เนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วน

ทั้งนี้ วิกฤติน้ำท่วมยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดรถยนต์รวมเดือน พ.ย. 2554 ที่ยังคงทรุดลงต่อเนื่อง โดยมียอดขายอยู่ที่ 25,664 คัน ลดลง 67.5% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 12,746 คัน ลดลง 62.1% และรถเพื่อการพาณิชย์ 12,918 คัน ลดลง 71.5% ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตัน อยู่ที่ 8,431 คัน ลดลง 78.6%

ส่วนยอดขายรถยนต์รวมเดือน ธ.ค. 2554 อยู่ที่ 54,575 คัน ลดลง 41.4% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 25,826 คัน ลดลง 33.8% และรถเพื่อการพาณิชย์ 28,749 คัน ลดลง 46.9% โดยรถกระบะขนาด 1 ตัน อยู่ที่ 21,083 คัน ลดลง 54.5%

ขณะที่ยอดขายรถยนต์รวมเดือน ม.ค. 2555 เริ่มกลับมาดีขึ้น มียอดขายอยู่ที่ 76,246 คัน เพิ่มขึ้น 11.5% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 27,962 คัน ลดลง 9.8% และรถเพื่อการพาณิชย์ 48,284 คัน เพิ่มขึ้น 29.1% สำหรับรถกระบะขนาด 1 ตัน 42,801 คัน เพิ่มขึ้น 35.3%

นายวุฒิกร ระบุว่าตลาดรถยนต์เดือน ม.ค.ปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 11.5% เป็นเพราะบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถกลับมาผลิตได้ในระดับปกติ ทำให้สามารถเร่งส่งมอบรถที่ค้างจองได้มากขึ้น แต่ในส่วนยอดขายรถยนต์นั่งยังลดลง เป็นผลจากผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เป็นปกติ

ด้านยอดขายรถยนต์รวมเดือน ก.พ. 2555 มีปริมาณการขาย 90,461 คัน เพิ่มขึ้น 17.2% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 32,170 คัน ลดลง 4.0% และรถเพื่อการพาณิชย์ 58,291 คัน เพิ่มขึ้น 33.4% ส่วนรถกระบะขนาด 1 ตัน 51,335 คัน เพิ่มขึ้น 36.2%

สำหรับยอดขายรถยนต์เดือน มี.ค. 2555 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 110,928 คัน เพิ่มขึ้น 19.3% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 40,305 คัน ลดลง 3.3% และรถเพื่อการพาณิชย์ 70,168 คัน เพิ่มขึ้น 36.7% ส่วนรถกระบะขนาด 1 ตัน 61,737 คัน เพิ่มขึ้น 40.0%

ล่าสุด ยอดขายรถยนต์รวมเดือน เม.ย.ปีนี้ มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 87,788 คัน เพิ่มขึ้น 30.5% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 38,211 คัน เพิ่มขึ้น 23.4% และรถเพื่อการพาณิชย์ 49,132 คัน เพิ่มขึ้น 35.2% ส่วนรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนต์นี้ จำนวน 42,163 คัน เพิ่มขึ้น 34.8%

นายวุฒิกร ย้ำว่าการที่ตลาดรถเดือน เม.ย.ปีนี้มีความคึกคัก เป็นผลจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่แนะนำช่วงงานบางกอกมอเตอร์โชว์ ส่งผลให้มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ตลอดจนกำลังการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ทุกบริษัทเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ จึงสามารถเพิ่มการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าค้างจองได้มากขึ้น

คลังขอเวลา 2 เดือน

จากการที่ตลาดรถได้หวนกลับมาคึกคัก จนรถหลายรุ่นต้องเสียเวลารอคิวนานกว่าจะได้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะรถที่อยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์จากนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ที่คิวจองยาวเหยียด

ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเกิดความกังวลว่าอาจจะเสียโอกาสในการรับสิทธิคืนภาษีรถคันแรก จึงได้ขอให้กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาสำหรับนโยบายนี้ออกไปอีก เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดรถได้ประสบวิกฤติน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้เต็มที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาคิวรับรถนานผิดปกติ

นายทนุศักดิ์  เล็กอุทัย  รมช.คลัง  เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการสรุปโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งเดิมนั้นมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ว่าจะมีแนวทางอื่นๆเพิ่มอีกหรือไม่



“คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาศึกษาอีก 2 เดือนนับจากนี้ไป เพื่อพิจารณาว่า ในช่วงที่ผ่านมามาตรการที่ออกไปนั้น ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนและตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะเพิ่มยอดขายรถยนต์ได้ไม่น้อยกว่า 500,000 คันหรือไม่”

ขณะนี้ยอดขอเงินคืนภาษีรถคันแรกได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมในช่วงแรกมีเข้ามาประมาณ 1,000 คัน และล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนมาขอคืนเงินภาษีแล้ว 40,000 คัน และยังมีรถยนต์ที่เข้าข่ายสามารถขอคืนเงินภาษี โดยอยู่ระหว่างการรอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอีกประมาณ 200,000 คัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมด 500,000 คัน คิดเป็นเม็ดเงิน 30,000 ล้านบาท

นายทนุศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกของโครงการที่มีปัญหา เพราะประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา  ทำให้เกิดอาการสะดุดทางด้านกำลังซื้อ  และยังได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตรถยนต์ของโรงประกอบรถยนต์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมด้วย  จึงทำให้ยอดการขอคืนเงินมีเข้ามาน้อยมาก

“แต่เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ กำลังซื้อของผู้บริโภคคืนกลับมาเหมือนเดิม เห็นได้จากยอดการขอเงินคืนที่มีเพิ่มขึ้นมากในช่วงเดือน เม.ย.และเดือน พ.ค. และยังจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกเดือน โดยช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะมีผู้มายื่นเรื่องขอคืนเงินมากขึ้น”

ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงการคลังได้รับทราบถึงเหตุภาวะผิดปกติของตลาดรถในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากวิกฤติน้ำท่วม จนส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องสะดุด โรงประกอบรถยนต์ต้องชะลอการผลิต โดยเพิ่งจะกลับมามีกำลังการผลิตได้เป็นปกติในเดือน พ.ค.นี้

ทำให้ล่าสุด กรมสรรพสามิตได้วางแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ไว้ 2 แนวทาง คือ

1. ขยายเวลาจากที่จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ ให้เพิ่มต่อไปอีก 3-4 เดือนของปี 2556 ซึ่งเป็นการชดเชยกับช่วงเวลาที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตรถยนต์ขายได้ทัน

และ 2. ไม่ขยายเวลา แต่จะผ่อนปรนเงื่อนไขให้คนที่ถือใบจองรถจนถึงสิ้นปีนี้ ได้สิทธิคืนเงินรถคันแรกได้ จากเดิมที่กำหนดว่า “จะต้องรับรถและจดทะเบียนรถภายในปีนี้เท่านั้น”

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางใดตามที่กรมสรรพสามิตเสนอมา แต่สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการจะได้สิทธิคืนภาษีรถคันแรก จึงต้องรีบตัดสินใจจองรถก่อนสิ้นปีนี้ เพราะถึงอย่างไรกว่าจะรับรถได้ก็เป็นช่วงต้นปีหน้าอยู่ดี

หากยังมัวลังเล ก็อาจจะชวดสิทธิดังกล่าว

เพราะทางการจะไม่ขยายเวลาไปมากกว่านี้อีกแล้ว!!!
ทีมเศรษฐกิจ
http://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/261891 

เขียนเมื่อ : // 1:23 AM
หมวดหมู่:

0 comments:

Post a Comment

 
Powered by Blogger.