ชื่อของ American Muscle Car ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมีไม่กี่ชื่อ และที่สำคัญคือ จะมีสักกี่ชื่อที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นเป็นตัวตนที่สามารถสัมผัสได้ เพราะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งสภาพเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องพลังงาน การที่ American Muscle Car คันไหนจะอยู่รอดได้ ย่อมไม่ธรรมดา
Chevrolet Corvette คือ หนึ่งในผู้อยู่รอดที่สามารถสร้างชื่อเสียงแห่งความเร้าใจตามแบบฉบับอเมริกันให้อยู่คู่กับคนทั่วโลกมานานรวมถึงตอนนี้ก็ครบ 5 รอบ หรือ 60 ปีแล้ว ซึ่งในตอนนี้ทางจีเอ็ม หรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส บริษัทแม่ของเชฟโรเลตจัดการเผยโฉมใหม่ หรือโมเดลเชนจ์ของคอร์เว็ตต์ออกมาแล้ว และพร้อมทำตลาดในปลายปี 2013
คอร์เว็ตต์ใหม่ มากับรหัส C7 พร้อมกับแนวคิดที่เรียกว่า The Return of Stingray ซึ่งใครที่เป็นแฟนของคอร์เว็ตต์คงทราบดีว่า Stingray หรือเจ้าปลากระเบนเป็นแนวทางหรือสไตล์การออกแบบของคอร์เว็ตต์ที่ถูกนำมาใช้กับรุ่นคูเป้ในเจนเนอเรชั่นที่ 2 หรือ C2 เมื่อปี 1963 และถือเป็นคอร์เว็ตต์รุ่นแรกที่มากับตัวถังคูเป้หลังคาแข็ง เนื่องจากรุ่นแรก หรือ C1 นับตั้งแต่เริ่มผลิตขายในปี 1953 จนถึงปีที่เลิกทำตลาดมีตัวถังเดียวแบบเปิดประทุน
นอกจากนั้น เชฟโรเลตยังนำชื่อของ Stingray มาใช้อย่างต่อเนื่องกับรุ่นที่ 3 หรือ C3 เพื่อสื่อถึงการสืบทอดเจตนารมย์ทางด้านงานออกแบบที่ถูกสานต่อในด้านความสปอร์ตและโฉบเฉี่ยวของเส้นสายที่ต่อเนื่องมาจากรุ่น C2 อีกด้วย ก่อนที่แนวทางนี้จะขาดหายไปในรุ่นที่ 4, 5 และ 6 ก่อนกลับมาอีกครั้งในรุ่นใหม่ล่าสุดที่ถูกเผยโฉมในงานดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ 2013 เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา
Mark Reuss ประธานของจีเอ็ม อมเริกาเหนือ กล่าวว่า การออกแบบของรุ่นใหม่ก็เหมือนกับรุ่นปี 1963 ในการได้รับอิทธิพลในด้านการสร้างสรรค์ของเส้นสายบนตัวถัง แต่เหนือชั้นกว่าด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ แห่งโลกยานยนต์มาแต่งเติมเสริมประสิทธิภาพของให้กับคอร์เว็ตต์ใหม่ เพื่อตอบสนองทั้งในด้านสุนทรีย์ในการขับขี่ ความพึงพอใจในด้านภาพลักษณ์ และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงความประหยัดน้ำมันที่ผ่านมาตรฐาน 26 ไมล์/แกลลอนของ EPA หรือ Environmental Protection Agency ของสหรัฐอเมริกาได้
นอกจากนั้น Reuss เผยว่า คอร์เว็ตต์ใหม่ถือเป็นของใหม่เกือบ 100% และมีการแชร์พื้นฐานร่วมกับรุ่นที่แล้วเพียง 2 จุดเท่านั้น แต่ส่วนหลักๆ มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็รวมถึงโครงสร้างตัวถัง แชสซีส์ ระบบกันสะเทือน เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง
เชฟโรเลต เผยว่าประเด็นหลักของตัวรถในแง่ของความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ การนำวัสดุที่มีน้ำหนักเบาอย่างคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ร่วมกับอะลูมิเนียม และแม็กนีเซียมในการผลิตชิ้นส่วนตัวถังและโครงสร้างตัวถัง เพื่อลดน้ำหนักให้กับตัวรถ โดยคาร์บอนไฟเบอร์ถูกนำมาใช้กับฝากระโปรงหน้าและหลังคา ซึ่งแม้ว่าในรุ่นนี้จะมากับตัวถังคูเป้ แต่เฉพาะแผ่นหลังคาสามารถถอดออกได้ มีการนำวัสดุแบบคอมโพสิตที่มีน้ำหนักเบามาใช้ในการผลิตกันชนหน้า ประตู หรือแผ่นตัวถังด้านท้ายของตัวรถ
ขณะที่อะลูมิเนียมจะเป็นโครงสร้างหลักของเฟรมตัวถัง ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยในแง่ของการกระจายน้ำหนักตัวถังด้านหน้าและหลังในแบบ 50-50% ซึ่งทำให้มีความทนทานต่อการบิดตัวเพิ่มขึ้นอีก 57% ขณะที่น้ำหนักลดลงอีก 45 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิม
ในแง่ของการออกแบบนั้น เชฟโรเลต เผยว่า C7 มาพร้อมกับสไตล์ความปราดเปรียวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรุ่น C2 Stingray โดยเฉพาะรูปทรงของตัวถังโดยรวม ซึ่งมีลักษณะที่แคบตรงตัวถังด้านหน้า และเริ่มบานออกและมีความกว้างมากขึ้นสำหรับส่วนท้าย ซึ่งเมื่อมองจากทางด้านบนแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับหัวลูกศร
สำหรับเครื่องยนต์เป็นบล็อกใหม่ที่ยังมั่นใจได้ในความเป็นอเมริกัน เพราะว่าคอร์เว็ตต์ใช้เครื่องยนต์วางด้านหน้าขับเคลื่อนล้อหลัง และใช้ขุมพลังแบบวี8 เหมือนกับทุกรุ่นที่ผ่านมา
บล็อกนี้เป็นของใหม่ในรหัส LT1 ที่มีความจุ 6,200 ซีซี และติดตั้งเทคโนโลยีมากมายเพื่อตอบสนองทั้งความแรงและความประหยัด เช่น ระบบจ่ายน้ำมันเข้าสู่ห้องเผาไหม้โดยตรง หรือ Di-Direct Injection ตามด้วยระบบควบคุมการทำงานของลูกสูบ หรือ AFM-Active Fuel Management ซึ่งจะมีการลดจำนวนการทำงานลงเมื่อใช้ความเร็วคงที่เพื่อความประหยัดน้ำมัน และระบบวาล์วแปรผัน หรือ VVT
กำลังที่ผลิตออกมาได้อยู่ที่ 450 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 62.1 กก.-ม. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่วางใน C6 แล้วถือว่าแรงกว่า ด้วยแรงบิดที่มากกว่าถึง 6.9 กก.-ม. และสมรรถนะของเครื่องยนต์บล็อกใหม่ เทียบเท่ากับตัวแรงในรหัส LS7 ของคอร์เว็ตต์ Z06 ซึ่งใช้ขุมพลังวี8 7,000 ซีซี เลยทีเดียว
ในส่วนของระบบส่งกำลังต้องถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับเกียร์ธรรมดา เพราะที่ติดตั้งในคอร์เว็ตต์ C7 มากับแบบธรรมดา 7 จังหวะใช้ฟลายวีลแบบ Dual-Mass และคลัตช์คู่ ขณะที่อัตโนมัติเป็นแบบ 6 จังหวะพร้อมกับ Paddle Shift สำหรับเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลง
เมื่อน้ำหนักลดลงและจัดจ้านขึ้น การปรับเซ็ตในเรื่องของช่วงล่างจำเป็นจะต้องมีตามไปด้วย โดยระบบแชสซีส์ของคอร์เว็ตต์ C7 ได้รับการผลิตจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเพื่อลดสภาพ Unsprung weight เช่น ชิ้นส่วนปีกนกอย่าง Control Arm เมื่อเปลี่ยนมาใช้อะลูมิเนียมจะลดน้ำหนักได้ถึงข้างละ 4 กิโลกรัม ส่วนแขนยึดของระบบช่วงล่างหลังสามารถลดลงได้ถึงข้างละ 1.1 กิโลกรัม
ในด้านล้อแม็กมากับลายสวยและวงโตสะใจตามแบบฉบับรถสปอร์ต ซึ่งด้านหน้าเป็นล้อขนาด 8.5X18 นิ้ว และด้านหลังขนาด 10X19 นิ้ว แต่ถ้าจ่ายเงินเพิ่มสำหรับแพ็คเกจที่ใหญ่ขึ้นอย่าง Z51 Performance Package ก็จะได้ล้อขนาด 8.5X19 นิ้วที่ด้านหน้า และ 10X20 นิ้วที่ด้านหลัง
นอกจากนั้นในส่วนของระบบเบรกและช่วงล่างก็มีการปรับเซ็ตตามไปด้วย เช่นเดียวกับการติดตั้งระบบ LSD แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-LSD ซึ่งจะติดตั้งให้เฉพาะในรุ่น Z51 โดยจะสามารถปรับระดับการทำงานของระบบได้ถึง 3 รูปแบบสอดคล้องกับสภาพการใช้งานอย่างเต็มที่
สำหรับแฟนๆ ของคอร์เว็ตที่ต้องการสัมผัสกับความเร้าใจ อดใจรอกันอีกสักนิด เพราะถึงแม้ว่าจะมีการเผยโฉมให้เห็นแล้ว แต่คันจริงที่จะส่งให้กับลูกค้ายังต้องรออีกหน่อย เพราะจะเริ่มทำตลาดอย่างเป็นทางการในปลายปี 2013
http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9560000005235
0 comments:
Post a Comment